วันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

อ่าน เขียนกับพระไพศาล วิสาโล สัมภาษณ์โดย เด่น นาคร วารสาร "ปากไก่"ของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ฉบับวันที่ ๕ พ.ค. ๒๕๕๓

อ่าน เขียนกับพระไพศาล วิสาโล
สัมภาษณ์โดย เด่น นาคร
วารสาร "ปากไก่"ของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
ฉบับวันที่ ๕ พ.ค. ๒๕๕๓

       นิสัยรักการอ่านที่มีติดตัวมาตั้งแต่เด็ก ส่งผลโดยตรงในเรื่องผลการเรียน จนจัดว่าอยู่ในเกณฑ์ดี และถูกคาดหวังจากผู้คนรอบข้างหรือแม้แต่ตัวเอง ว่าจะเติบโตไปในสายวิศวะ หรือนักเรียนแพทย์ แต่จากนั้นนิสัยรักการอ่านได้ขยายไปสู่หนังสืออื่นที่นอกเหนือไปจากตำราเรียน กระทั่งหนังสือของนักเขียนที่ชื่อ ส.ศิวรักษ์ หรือสุลักษณ์ ศิวรักษ์ มาอยู่ในมือและ โลกการอ่านเท่านั้นแหละชีวิตของเด็กหนุ่มคนหนึ่งก็ถึงกับพลิกเปลี่ยนอย่างสิ้นเชิง
        “ชีวิตมาพลิกเปลี่ยนเมื่อหันมาอ่านหนังสือของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ‘หนังสือชวน อ่านวิจารณ์หนังสือต่าง ๆ’ จากนั้นก็ตามอ่านบทความและหนังสือเล่มอื่น จนได้มาอ่านสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ถือเป็นการเปิดหูเปิดตามาก อ่านแล้วเกิดแรงบันดาลใจ เกิดไฟในการคิดในการวิพากษ์วิจารณ์ และเกิดไฟในแง่ของการอยากให้ความเป็นธรรมเกิดขึ้นในสังคม”
        จากนั้นเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งที่หันมาสนใจเรื่องราวของบ้านเมือง ก็กระโจนตัวเองสู่กิจกรรม เพื่อสังคมในด้านต่าง ๆ ร่วมออกค่ายอาสาพัฒนาสารพัดค่าย สั่งสมประสบการณ์และคมคิดจนเติบกล้า กระทั่งตบเท้าร่วมขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยกับนิสิตนักศึกษาในยุค ๑๔ ตุลา ๑๖ ทั้งร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองหลัง ๖ ตุลา ๑๙
        ทำงานและคลุกคลีอยู่กับกลุ่มนักคิดนักเคลื่อนไหวภาคสังคมที่ดำเนินการในเมืองยุค เผด็จการครองประเทศ ทว่าวันหนึ่งความเครียดก็มาเยือน หันหาทางออกใดก็ช่างมืดมน เหลือเพียงหนึ่งเส้นทางคือ เข้าสู่เพศบรรพชิต กำหนดจิตมุ่งปฏิบัติธรรมเพื่อเยียวยาจิตใจ กระนั้นความเป็นห่วงบ่วงใยในสังคมหาได้ตัดเยื่อไปไม่ ด้วยยังคงออกมาเตือนสติผู้คนให้ยึดมั่นในแนว ทางสันติวิธีในทุกครั้งที่บ้าน เมืองขัดแย้งแตกแยก เช่นเดียวกันกับงานด้านการเขียน ก็ยังคงหลั่งไหลประดุจสายน้ำฉ่ำเย็นริน ไหลชุบชโลมผืนแผ่นดินให้หายรุ่มร้อนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
        หากนับเวลาก็ร่วมสามทศวรรษ แล้ว ที่บรรพชิตกิจวัตรดีงามผู้หนึ่งได้ดำรงตนในวิถีเป็นมา และในวันที่ท่านได้รับการเชิดชูให้ได้รับรางวัลศรีบูรพา เรื่องราวของท่านก็คงมีคนบอกกล่าวกันในหลากหลายแง่มุม ต่อไปนี้ขอเชิญท่านผู้อ่านร่วมรับรู้ในอีกด้านมุมชีวิตของ พระไพศาล วิสาโล ว่าด้วยเรื่องเขียน อ่าน และความรู้สึกต่อการได้รับรางวัลศรีบูรพา ประจำปี ๒๕๕๓นี้
       ท่านเขียนหนังสือทุกวันไหม
       ไม่หรอก เป็นบางวัน เดือนหนึ่งเขียนสัก ๔ ชิ้นได้
       ท่านใช้เวลาช่วงไหนเขียนหนังสือ
        เที่ยงถึง ๔ โมงเย็น เมื่อก่อนเขียนตั้งแต่เช้าเลยนะ ๙ โมงถึงบ่าย ๓ แต่ ๑๐ ปีหลังมานี่เช้าๆ เขียนไม่ได้ มันตื้อ ง่วงนอนบ้าง ต้องนอนก่อนกว่าจะเริ่มเขียนได้ก็ช่วงเที่ยง เขียนวันละ ๔ ชั่วโมง หลังจากนั้นก็จะไม่มีแรง
       เมื่อก่อนเขียนและส่งต้นฉบับอย่างไรครับ
        พิมพ์ดีดแล้วก็ส่งไปรษณีย์ เก็บก็อปปี้ไว้ใครเข้าเมืองก็ฝากส่ง ช้านะสมัยก่อน ต่อมามีคอมพิวเตอร์ก็ลองใช้ดู ส่งเป็นดิสเก็ต แต่ก็ส่งล่วงหน้าหลายวัน ส่วนอินเทอร์เน็ตที่นี่เพิ่งมีใช้เมื่อปี ๔๘ ก่อนหน้านั้นจะส่งอีเมล์ก็ต้องไปส่งที่บ้านท่ามะไฟหวาน ซึ่งอยู่ห่างจากที่นี่ไป ๑๕ กม. เวลาจะส่งก็ต้องเขียนสะสมให้ได้สัก ๒-๓ ชิ้นถึงค่อยไปส่ง จะได้คุ้มกับเวลาที่ต้องเสียไปกับการเดินทาง เพราะทางค่อนข้างทุรกันดารสักหน่อย หรือไม่ก็ฝากคนไปส่งให้ แต่ปกติก็ส่งเป็นดิสเก็ตไปที่กรุงเทพ ฯเลย
แต่ที่นี่มีปัญหาเรื่องการใช้คอมพิวเตอร์ เพราะไม่มีไฟฟ้า วันหนึ่งใช้คอม ฯได้แค่ ๒ ชั่วโมง แบตก็หมดแล้ว ต้องลงเอาไปชาร์จที่สำนักงานป่าไม้ใกล้ ๆ วัด แต่ตอนหลังก็ได้อาศัยไฟฟ้าจากสำนักงานป่าไม้ รวมทั้งอาศัยไฟฟ้าแสงอาทิตย์ที่กุฏิ เดี๋ยวนี้การส่งอีเมล์ก็สะดวกขึ้นเพราะส่งผ่านโทรศัพท์มือถือได้ แต่ถ้าส่งเป็นไฟล์ใหญ่ก็ยังช้าอยู่ ไฟล์ใหญ่ ๆ ก็รับไม่ได้ แต่เท่านี้ก็พอแล้ว
       ข้อจำกัดเยอะขนาดนี้ งานเขียนของท่านก็ยังหลั่งไหลออกมาเป็น ๑๐๐ เล่ม
       ทำวันละนิด วันละหน่อย มันก็ไปได้
       งานเขียนในทางพุทธศาสนา ได้มาจากอาจารย์ท่านใดบ้างไหม
       ในทางพระพุทธศาสนาก็ต้องท่านพุทธทาส และท่านเจ้าคุณพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ๒ ท่านนี่แหละที่ได้ ยึดเป็นหลักมาก ท่านพุทธทาสจะมุ่งไปที่แก่นเลย คือ เรื่องอัตตา เรื่องตัวกู ของกู แต่ของเจ้าคุณพรหมคุณาภรณ์ อาตมาจะได้ในเรื่องโครงสร้างหลักธรรมของพุทธศาสนา และวิธีคิด โดยเฉพาะได้ อ่าน พุทธธรรม แล้วเป็นงานชั้นเลิศมาก
        พุทธธรรม เป็นหนังสือชั้นเลิศยังไงครับ
        เพราะเป็นคำตอบของชีวิต และทำให้เกิดมุมมองทางสังคมที่ไม่เหมือนใคร ที่ไม่เคยนึกมาก่อน อย่างที่บอกว่าหนังสือเล่มนี้ทำให้เห็นโครงสร้างของพระพุทธศาสนา ทำให้เข้าใจวิธีคิดแบบพุทธ และช่วยให้เรามีวิธีคิดที่สอดคล้องกับความเป็นจริงได้
       ชาวพุทธจำเป็นต้องผ่านหนังสือเล่มนี้ไหม
        ไม่จำเป็น คนส่วนใหญ่คงอ่านไม่ไหวหรอก ตั้งเกือบพันหน้า แต่ถ้าอยากรู้ลึกซึ้งก็ต้องเล่มนี้
       หนังสือของท่านพุทธทาสที่มีหลายเล่ม อยากให้พระอาจารย์แนะนำคนทุกวันนี้ ควรจะอ่านเล่มไหนถึงจะเหมาะ
        พุทธประวัติจากพระโอษฐ์, อริยสัจจากพระโอษฐ์, แก่นพุทธศาสน์ หรือ ที่คนพูดถึงกันมากอย่าง คู่มือมนุษย์, ตัวกูของกู ชาวพุทธถ้าเข้าใจเรื่องตัวกูของกูได้ ก็ทำให้จับหลักพุทธศาสนาได้ ตัวกูของกู นี่เป็นเรื่องใหญ่เป็นรากเหง้าแห่งความทุกข์ของมนุษย์
       หนังสือที่พิมพ์ออกมาท่านอาจารย์ เคยนับเองไหมว่ามีกี่เล่มแล้ว
        ๑๐๔ เล่ม บางเล่มก็เป็นเล่มเล็ก ๆ เขาก็นับรวมเข้าไปเพื่อทำบันทึกเอาไว้ ด้วย เล่มหนา ๆ ก็มีเยอะ
       เล่มไหนที่คิดว่ามาสเตอร์พีซของท่านอาจารย์
        ที่เขาว่ากันก็ พุทธศาสนาไทยในอนาคต แต่อาตมาคิดว่ายังไม่ถึงที่สุดของตัวเองเท่าไหร่ มีอีกหลาย อย่างที่เราเห็นว่าน่าจะเขียนลงไป แต่ไม่มีเวลาทำ ยิ่งตอนนี้ยิ่งไม่มีเวลา ไม่มีแรงด้วย
       ท่านคงศึกษาข้อมูลเยอะมากกว่าจะเป็นเล่มนี้
        แต่มีงานอีกหลายชิ้นที่อาตมายังไม่ได้อ่าน และน่าจะอ่านได้มากกว่านี้ ซึ่งถ้าได้อ่านก็คงจะเขียนอะไรได้ลึกกว่าที่เห็น แต่ไม่มีเวลา ต้องรีบทำให้เสร็จก่อน เลยออกมาเท่าที่เห็น
       พุทธศาสนาไทยในอนาคต เนื้อหาครอบคลุมสังคมพระตั้งแต่อดีตยันปัจจุบัน ซึ่งหลาย ๆ อย่างก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง
        มันไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ยังมีการแบ่งเป็นธรรมยุติกับมหานิกาย แม้แต่ความเป็นอีสาน เขาก็ยังดูถูกอยู่เลยว่าเป็นลาว อย่างสมเด็จพุฒาจารย์วัดมหาธาตุก็ถูกค่อนว่าเป็นลาว เพราะท่านเป็นคนขอนแก่น นี่เป็นทัศนคติในสังคมพระอย่างน้อยก็เมื่อสี่สิบปีก่อน เดี๋ยวนี้ก็คงมีอยู่แต่น่าจะลดลง ยังไม่ต้องพูดเรื่องไพร่ในหมู่ไพร่ก็ยังมีการแบ่งว่าใครลาว ใครกรุงเทพฯ ใครภาคกลาง อย่างพระไพศาลนี่เขาก็ว่าพระลาวเหมือนกัน แต่จริง ๆ ลาวนี่แหละที่เป็นกำลังหลัก
       หนังสือกว่า ๑๐๐ เล่มที่ตีพิมพ์ พระอาจารย์เอาค่าลิขสิทธิ์ไปใช้ด้าน ไหนบ้างครับ
ค่าลิขสิทธิ์ก็ได้มาบ้าง แต่ไม่ทุกเล่ม ถ้าผู้พิมพ์เป็นมูลนิธิหรือเป็นเพื่อนก็ไม่รับ บางแห่งที่เป็นการค้า หน่อยก็รับ แต่ก็จะบริจาคต่อให้เครือข่ายพุทธิกา หรือไม่ก็ถวายวัดไป ปกติก็ไม่รับอยู่แล้ว บางเล่มตีพิมพ์ หลายครั้งก็ไม่ได้รับค่าลิขสิทธิ์นะ เขาให้เป็นหนังสือ หรือบางทีเขาก็ถวายให้วัด ถวายให้ทีละแสน ๆ แต่ก็ไม่บ่อย บางเล่มอาตมาก็ไม่รู้ว่าพิมพ์กี่ครั้งแล้ว สำนักพิมพ์ไม่ได้บอกให้รู้
      เคยกลับไปอ่านหนังสือที่ตัวเองเขียน บ้างไหมครับ
       ไม่เคย ไม่กล้าอ่าน (หัวเราะ)
       หนังสือของพระอาจารย์พิมพ์กับหลายสำนัก เขามาติดต่อยังไงครับ
       ใครอยากพิมพ์เขาก็มาติดต่อ ก็มีบางแห่งอยากพิมพ์หนังสือธรรมะแจก เอาจากที่อาตมาบรรยายตามที่ต่าง ๆ มาพิมพ์แจกก็มี บางทีก็รวมบทความที่เคยเขียน ถ้าอาตมาเป็นฆราวาสก็คงไม่ได้พิมพ์มากขนาดนี้หรอก แต่นี่อาตมาเป็นพระ เขาเลยพิมพ์เยอะ ส่วนหนึ่งมันเกี่ยวกับการตลาดด้วย เพราะคนสนใจหนังสือธรรมะมากขึ้น ซื้อมาก แต่จะอ่านหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนคนที่พิมพ์แจกก็เพราะอยากจะทำบุญ
      มีเขียนแนวอื่นเก็บไว้บ้างไหม อย่างบทกวี เรื่องสั้น
       ไม่มี อาตมาไม่มีหัวด้านนี้เลย
      ช่วงหลัง ๆ นี้ได้อ่านงานวรรณกรรม ของใครบ้างครับ
       ของ ชาติ กอบจิตติ ชอบเรื่อง นักขึ้นภูเขาทอง มีสาระดี เอาไปใช้ประโยชน์หลายงานแล้ว เร็ว ๆ นี้ก็อ่านเรื่อง ลับแล,แก่งคอย ของอุทิศ เหมะมูล กับอีกเล่มของ วาณิช จรุงกิจอนันต์ เป็นงานเขียนรวมเล่มเนื่องในโอกาสครบอายุ ๖๐ ปี ของกนกพงศ์ สงสมพันธ์ ก็คิดว่าจะอ่านเหมือนกัน แต่ไม่มีเวลาสักที เห็นว่ามีเล่มหนึ่งที่คนเขาชมมาก เรื่อง นิทานประเทศ ใช่มั้ย มีเวลาจะลองอ่านดูสักครั้ง
      นิตยสารที่อ่าน
      ก็มี ฅ.คน สารคดี เนชั่นแนลจีโอกราฟิก มติชนสุดสัปดาห์ เนชั่น ส่วนภาษาฝรั่ง ก็เช่น ไทม์ นิวส์วีก อีโคโนมิสต์
       มาที่งานศรีบูรพาบ้าง เริ่มอ่านเล่มไหนก่อน และอ่านช่วงไหน
        เรื่องแรกที่อ่านคือ จน กว่าเราจะพบกันอีก อ่านตอนประท้วงที่ธรรมศาสตร์ก่อนเกิดเหตุ ๑๔ ตุลา
      ส่งผลต่อความคิดเลยไหม
มันไม่ถึงกับสะเทือน แต่ก็ได้แง่คิดสำหรับคนหนุ่มสาว สมัยก่อนนิยายเพื่อชีวิตยังไม่ค่อยมี ที่ขายดีก็เรื่อง จากเหมยถึงพลับพลึง เป็นงานแปลจากจีน เป็นวรรณกรรมที่มีสาระแต่ไม่ถึงกับเป็นวรรณกรรมเพื่อมวลชน หรือของวิทยากร เชียงกูล ของศรีบูรพาก็จนกว่าเราจะพบกันอีก แลไปข้างหน้า เล่มหลังนี้ตอนนั้นไม่มีใครกล้าพิมพ์เลย มีแต่ฉบับโรเนียว อีกเล่มของคือ บันทึก ๒๔๗๕ ใช้ชื่อจริงคือกุหลาบ สายประดิษฐ์
       นับถือศรีบูรพาในเรื่องใด
        เรื่องความกล้าหาญ ความซื่อสัตย์สุจริต ยึดมั่นในอุดมคติ ความเสียสละเพื่อประเทศชาติ ความประณีต ศรีบูรพาเป็นคนมีวินัยสูงมาก และก็เป็นคนใฝ่รู้ ไม่ยอมหยุดนิ่ง โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา ทำให้มีผลงานใหม่ ๆ ออกมาเสมอ ไม่ติดกับของเดิม ความใฝ่รู้ทำให้ท่านหันมาสนใจพุทธศาสนาอย่างจริงจัง จนมีผลงานในด้านนี้ นอกเหนือจากงานด้านวรรณกรรมและการเมือง
        ศรีบูรพาเสียสละตัวเองเพื่อสังคม แต่ไปตายในแผ่นดินอื่น ถือว่ายุติธรรมกับท่านไหม
        ท่านน่าจะกลับมาช่วงหลัง ๑๔ ตุลานะ แต่คิดว่าตอนนั้นสุขภาพของท่านคงแย่แล้ว เสียดายว่า ๑๐ กว่าปีที่อยู่จีนแดงไม่มีผลงานสำคัญออกมาเลย เสียดายเพราะท่านเป็นนักเขียนโดยสัญชาตญาณ เขียนตั้งแต่เล็ก
        กับความรู้สึกที่ได้รับรางวัลศรีบูรพา
        มีความรู้สึกหลายอย่างนะ อย่างแรกคือ ไม่คาดคิดว่าจะได้ เป็นเซอร์ไพรส์ ความรู้สึกที่สองคือ ไม่รู้จะพูดยังไง คล้าย ๆ เป็นความตะขิดตะขวงหรือเคอะเขิน ไม่รู้จะใช้คำไหนบอกไม่ถูก นึกคำไม่ออก คือรู้สึกว่าอาตมายังไม่ค่อยเหมาะนะ อีกความรู้สึกหนึ่งคือรู้สึกว่าเป็นภาระ ต้องแบกภาระอันทรงเกียรตินี้ เพราะมัน เป็นรางวัลที่เกินตัว แต่ไม่กังวลนัก เพราะอาตมาก็เขียนงานอยู่สม่ำเสมอ มันไม่เหมือนกับซีไรต์ เพราะซีไรต์เขาพิจารณาแค่เล่มเดียว แล้วคนอ่านก็คอยว่าเมื่อไหร่คุณจะมีผลงานออกมาอีก แต่รางวัลศรีบูรพา จะพิจารณาถึงงานที่ทำมาทั้งหมด ไม่ได้ดูเป็นเล่ม ๆ และตอนนี้ก็เป็นช่วงเข้าปัจฉิมวัยแล้ว จึงไม่ได้กังวลอะไรกับงานเขียนชิ้นต่อ ๆ ไป
*******
รวมจาก  http://www.visalo.org/columnInterview/parkkai.htm