เห็ดหลินจือ ได้ฉายาว่า "สมุนไพรหมื่นปี" มีสรรพคุณครอบจักรวาล
โดย ภก.สุดเหมือนฝัน ธนธัญญา
นิตยสารหมอชาวบ้าน 292
นิตยสารหมอชาวบ้าน 292
สิงหาคม 2003
เห็ดหลินจือ |
ถิ่น กำเนิดอยู่เมืองจีน แต่ด้วยชื่อเสียงที่มีความหมายลึกซึ้งถึงความมหัศจรรย์ในด้านอายุวัฒนะ จนได้ฉายาว่า "สมุนไพรหมื่นปีไ ทำให้เผยแพร่ไปทั่วโลก ทั้งเอเชีย ยุโรป อเมริกา คุณค่าของสารสำคัญมากกว่า ๑๕๐ ชนิด ทำให้สมุนไพรหมื่นปีนี้มีสรรพคุณครอบจักรวาลจริงๆ ชาวจีนใช้เป็นยารักษาโรคมานานเกือบ ๒,๐๐๐ ปี และที่สำคัญคือสามารถช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรคและช่วยป้องกันรักษาโรคภูมิแพ้ ได้ จึงเหมาะกับยุคที่โรคร้ายกำลังรุมเล่นงานมนุษย์จนปั่นป่วน เช่น โรคเอดส์ โรคอีโบลา หรือโรคซาร์สที่ทำให้คนเอเชียหวาดผวา เป็นต้น ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนให้รู้ว่า "ภูมิต้านทานโรค" เป็นสิ่งที่เราจะต้องสร้างและรักษาไว้เป็นอย่างดี สมุนไพรหมื่นปีที่มนุษย์ต้องกลับมาให้ความสนใจนั้นคือ "เห็ดหลินจือ" (Lingchi)
เห็ดหลินจือ (Lingchi หรือ Ling-Zhi) อุดมสมบูรณ์ด้วยคุณค่าของธรรมชาติเพื่อช่วยมนุษย์
เห็ด หลินจือ มีชื่อทางพฤกษศาสตร์คือ Ganoderma lucidum จัดเป็นเห็ดพวก polypore อยู่ในวงศ์ Polyporaceae เห็ดชนิดนี้มีชื่อเรียกมากมายแตกต่างกันไปตามลักษณะรูปร่างที่เห็น สถานที่เกิด และสภาพภูมิประเทศ ด้วยโครงสร้างของดอกเห็ดซึ่งแห้งและแข็ง ทำให้สามารถทรงสภาพเดิมอยู่ได้นานนับชั่วชีวิตคน บางท้องที่เรียก เห็ดหัวงู เห็ดนางกวัก เห็ดกระด้าง เห็ดไม้ และเห็ดหิมะ
เห็ดหลินจือมีลักษณะ พิเศษ คือ ใต้หมวกเห็ดไม่มีครีบ แต่มีรูเล็กๆ จำนวนมากมาย ภายในรูเป็นที่เกิดของสปอร์ ด้านบนของหมวกมีสีน้ำตาลแดงหรือสีเชสนัทไปจนถึงสีน้ำตาลม่วงและดำ ผิวหมวกมัน เป็นเงา มีก้านสั้นๆ ดอกอ่อนจะมีขอบนอกขาวและค่อยๆ เหลือง เข้ามาทางด้านในจนเป็นสีน้ำตาลและน้ำตาลแดงในที่สุด เมื่อดอกโตจะแผ่ออกมีรูปร่างคล้ายรูปวาดไตของคนเราหรือคล้ายพัด อาจจะเกิดเป็นดอกเดี่ยว หรือเกิดพร้อมกันหลายดอกก็ได้ ขนาดดอกจะใหญ่หรือเล็กขึ้นอยู่กับสถานที่เกิด และแหล่งอาหาร สามารถเติบโตข้ามปีได้ และมีบางครั้งที่พบว่าอายุหลายปีทีเดียว เมื่อดอกเห็ดพัฒนาสมบูรณ์แล้วจะสร้างสปอร์ปล่อยออกมาจำนวนมากมายร่วง หล่นออกมา สปอร์ส่วนหนึ่งจะลอยขึ้นมาปกคลุมที่ผิวบนของหมวกเห็ด เป็นผงสีน้ำตาลซึ่งจะใช้ในการจำแนกชนิดของเห็ดสกุล Ganoderma ได้ ดอกเห็ดที่แก่จะมีขอบหมวกงุ้มลง สีหมวกเข้มขึ้น และอาจมีดอกใหม่งอกซ้อนกันได้ เห็ดหลินจือชอบขึ้นกับต้นไม้หลายชนิดที่หมดอายุแล้ว
ทั่วโลกได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับสรรพคุณทางยาและพบสารออกฤทธิ์แล้ว
การ ทำการวิจัยเกี่ยวกับเห็ดหลินจือไม่เพียงแต่ในประเทศจีนเท่านั้น ยังมีประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศที่ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับสรรพคุณทางยาและสารออกฤทธิ์ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน กรีซ สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี อินเดีย สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย เป็นต้น จากผลการศึกษาทางเคมีพบว่าเห็ดหลินจือประกอบด้วยสารต่างๆ ดังนี้ คือ sterols, fungal lysozyme, acid, protease, solubleproteins, amino-acids, polypeptides, saccharides, lactones, alkaloids, polysaccharides, triterpenoides และสารอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก รวมทั้งสิ้นมากกว่า ๑๕๐ ชนิด
จากผลการทดลองเกี่ยวกับสรรพคุณทางยาในต่างประเทศ พบ ว่าเห็ดหลินจือมีสรรพคุณเนื่องจากสารต่างๆ ในเห็ดหลินจือ ดังนี้
สรรพคุณ | สารออกฤทธิ์ |
๑. เสริมระบบภูมิต้านทานโรค | ๑. Polysaccharides, protein |
๒. การแก้แพ้ | ๒. Ganoderic acid, cyclo-octasulfur |
๓. การแก้ปวด | ๓. Adenosine |
๔. การป้องกันตับ | ๔. Ganoderic acids R, S, ganosterone |
๕. การลดการอักเสบ | ๕. Glucan |
๖. การควบคุมมะเร็ง | ๖. Polysaccharides, glucans |
๗. บำรุงหัวใจ | ๗. Polysaccharides, alkaloids |
๘. การลดไขมันในเลือด | ๘. Ganoderic acids |
๙. การลดน้ำตาลในเลือด | ๙. Ganoderans |
๑๐. การปรับความดันเลือด | ๑๐. Ganoderol, ganoderic acid |
๑๑. การลดการจับตัวของเกล็ดเลือด | ๑๑. Adenosine |
๑๒. การสร้างโปรตีน | ๑๒. Polysaccharides |
๑๓. การป้องกันรังสี | ๑๓. Polysaccharides |
ฤทธิ์และประโยชน์ทางยาที่สำคัญของเห็ดหลินจือ
๑. ฤทธิ์ กระตุ้นภูมิคุ้มกัน มีรายงานว่าสาร glycopolysac-charides และ glycoprotein บางชนิดในเห็ดหลินจือสามารถออกฤทธิ์ช่วยให้ร่างกายมีระบบภูมิต้านทานโรคที่ดี
๒. ฤทธิ์ต่อโรคภูมิแพ้ มีคนจำนวนมากนิยมกินเห็ดหลินจือ เพื่อบำบัดโรคภูมิแพ้ จากผลการวิจัยพบว่าสาร ganoderic acids ซึ่งเป็นสารประเภท triterpene มีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งฮิสตามีนจากมาสต์เซลล์ได้ ซึ่งสารฮิสตามีนเป็นสาเหตุของการแพ้ นอกจากนี้ ยังมีผู้สกัดสารโปรตีน LZ-8 ซึ่งพบว่าสามารถป้องกันการแพ้ที่รุนแรงได้ นักวิทยาศาสตร์ยังรายงานเพิ่มเติมว่า สารสกัดด้วยน้ำของเห็ดหลินจือสามารถป้องกันอาการหอบหืดในหนูตะเภาและป้องกัน การแพ้ผื่นคันได้อีกด้วย
ปัจจุบันมีการจดทะเบียนสิทธิบัตรสาร glycoprotein ที่ แยกได้จากเห็ดหลินจือ โดยระบุประโยชน์ว่าเป็นการใช้รักษาโรคภูมิแพ้ นอกจากนี้ ยังมีฤทธิ์ต้านมะเร็ง ลดความดันเลือด ลดโคเลสเตอรอล ลดน้ำตาลในเลือด ยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด บำรุงตับ และป้องกันตับจากสารพิษ และช่วยการทำงานของหัวใจอีกด้วย การกินเห็ดหลินจือมีความปลอดภัยสูง ได้มีผู้ศึกษาด้านพิษวิทยาของเห็ดหลินจือโดยการศึกษาในหนูถีบจักร พบว่า สารสกัดด้วยน้ำ และสารสกัดที่เป็น polysaccharides มีความปลอดภัยยังไม่พบความเป็นพิษใดๆ
วิธีเตรียมเห็ดหลินจือเพื่อกินด้วยตนเอง
การ ต้ม ใช้เห็ดหลินจือ ๒๐ กรัม (ประมาณ ๒๐ ชิ้น) ต้มกับน้ำ ๒ ลิตรให้เดือด หรี่ไฟแล้วเคี่ยวต่ออีกประมาณ ๑๐ นาที เติมน้ำตาลเล็กน้อยเพื่อแต่งรสหวาน ใช้ดื่มต่างน้ำ เวลาดื่มควรดื่มน้ำต้มเห็ดที่อุ่นๆ ปริมาณน้ำเห็ดที่ควรดื่มต่อวัน คือ ๐.๕-๑ ลิตร เภสัชกรไทยวิจัยและผลิต "เห็ดหลินจือ" เป็นเครื่อง ดื่มบรรจุกระป๋องและชาชงมา ๕ ปีแล้ว หากท่านไม่มีเวลาในการเตรียมเห็ดหลินจือไว้กินเอง ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตและควบคุมคุณภาพที่ดี คือ
๑. ต้องมีการตรวจและวิเคราะห์สารสำคัญในเห็ดหลินจือที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต
๒. ต้องมีกรรมวิธีการผลิตที่ยังคงสารสำคัญนั้นไว้ได้ โดยต้องตรวจและวิเคราะห์เมื่อผลิตเสร็จแล้ว
๓. ต้องมีกรรมวิธีในการฆ่าเชื้อโรคที่ปนเปื้อนแล้วทำการตรวจทางจุลชีวะอีกครั้ง
๔. ต้องมีภาชนะบรรจุที่ได้มาตรฐาน
***********
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น