วันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2555

การก้าวสู่ประชาคมอาเซียน

 การก้าวสู่ประชาคมอาเซียน
 ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ
 
       นับตั้งแต่ประเทศในกลุ่มอาเซียนมีการรวมตัวกัน ภายหลังการประกาศปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) และการก่อตั้งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The Association of Southeast Asian Nations) เป็นต้นมาประเทศสมาชิกอาเซียนต่างได้รับประโยชน์จากความร่วมมือที่ช่วยให้ผ่านพ้นวิกฤตต่างๆ และสามารถเพิ่มอำนาจต่อรองกับประชาคมอื่นๆในโลกให้สูงขึ้น แม้จะเป็นเพียงการรวมตัวกันอย่างหลวมๆ ก็ตามภายหลังการรับรองเอกสาร “วิสัยทัศน์อาเซียน 2020” (ASEAN Vision 2020) ในปี พ.ศ. 2540 (ค.ศ.1997) เพื่อพัฒนาอาเซียนไปสู่ “ประชาคมอาเซียน”(ASEANCommunity) ให้เป็นผลสำเร็จภายในปี 2563(ค.ศ. 2020) และเห็นชอบให้มีการร่าง “กฎบัตรอาเซียน” เพื่อเป็น“ธรรมนูญ” การบริหารปกครองกลุ่มประเทศอาเซียนทั้ง 10 ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ตลอดจนการประชุมสุดยอดอาเซียนในปี พ.ศ.2550(ค.ศ.2007) ที่มีความตกลงให้เร่งรัดการจัดตั้งประชาคมอาเซียนให้แล้วเสร็จเร็วขึ้นอีก 5 ปี คือ ภายในปี พ.ศ.2558 (ค.ศ.2015) ซึ่งมีการลงนามรับรอง “ร่างกฎบัตรอาเซียน” (ASEAN Charter) เพื่อใช้เป็นกติกาในการอยู่ร่วมกันที่เน้นความยึดมั่นในหลักการแห่งประชาธิปไตยหลักนิติธรรมและธรรมาภิบาล การเคารพและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ที่จะนำไปสู่ความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียนดังคำขวัญที่ว่า “One Vision, One Identity, One Community” ส่งผลให้เกิดความพยายามในการขับเคลื่อน และเตรียมการเพื่อก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ให้ทันตามกำหนดเวลาดังกล่าวในทุกมิติอย่างเป็นรูปธรรมและจริงจังมากยิ่งขึ้น


         การศึกษามีหน้าที่โดยตรงที่เกี่ยวข้องและมีบทบาทสำคัญในการให้ความรู้ที่จำเป็นในการขับเคลื่อนและเตรียมการเพื่อก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียนให้ทันตามกำหนด ในกรอบความร่วมมือของประชาคมอาเซียนทั้ง 3 เสาหลัก (Three Pillars of ASEANCommunity) ซึ่งประกอบด้วยประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political and Security Community - APSC)ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community - AEC)และโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาสังคมและวัฒนธรรม (ASEANSocio-Cultural Community - ASCC) อย่างหลีกเลี่ยงมิได้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาในฐานะหน่วยวิจัยและพัฒนานโยบายและแผนการศึกษาของชาติ จำเป็นที่จะต้องมีความตระหนักรู้และมีความพร้อมในการกำหนดนโยบายเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ที่สอดคล้องกับนโยบายในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ที่มุ่งสร้างคนไทยยุคใหม่ให้มีความรู้ความดี และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข ซึ่งหมายรวมถึงการจัดการศึกษาเพื่อให้คนไทยมีความพร้อมที่จะเป็นพลเมืองอาเซียนที่สามารถแข่งขันได้และอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้านอย่างสันติสุข ตลอดจนเป็นต้นแบบการดำเนินการเพื่อขยายผลความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมกับประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ ในภูมิภาคเดียวกันอีกด้วย ดังนั้นการให้ความรู้แก่ข้าราชการ บุคลากร และผู้ที่สนใจเกี่ยวกับการเตรียมการเพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียนจึงเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นเป้าประสงค์หลักในการจัดทำหนังสือเล่มนี้ เพื่อประโยชน์ในการปูพื้นฐาน สร้างความรู้ความเข้าใจให้นักการศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้องให้เกิดความตื่นตัว และมีความพร้อมในเบื้องต้นเพื่อจับมือก้าวสู่ประชาคมอาเซียนไปพร้อมกัน
*******
รวมแหล่งความรู้จาก  การบรรยายทางวิชาการเพื่อสร้างความตระหนัก เรื่อง การก้าวสู่ประชาคมอาเซียน รายละเอียด http://www.onec.go.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น