สิทธิผู้บริโภคไทย...ทำไมไม่เทียมเท่าสากล
Webmaster Consumerthai
สิทธิเป็นสิ่งใครก็ต้องการแต่หาทราบไม่ว่า สิทธิย่อมควบคู่กับหน้าที่ คำว่า สิทธิ หมายถึง ประโยชน์ทีกฎหมายรับรองและคุ้มครองให้ เช่น สิทธิที่จะอยู่อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่ถูกสุขลักษณะ ปราศจากสภาวะที่เป็นพิษ ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยในการบริโภคอาหาร ตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร เป็นต้น จึงอาจกล่าวได้ว่าสิทธิมีขึ้นตามที่กฎหมายรับรองและคุ้มครอง การคุ้มครองผู้บริโภคของไทยได้ให้ความสำคัญเรื่องสิทธิผู้บริโภค โดยมีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 57 วรรคหนึ่งว่า สิทธิผู้บริโภคย่อมได้รับการคุ้มครองทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2541 ได้รับรองสิทธิผู้บริโภคไว้ 5 ประการคือ
สิทธิผู้บริโภคไทย
- สิทธิที่จะได้รับข่าว สารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอ เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ได้แก่สิทธิที่จะได้รับการโฆษณา หรือการแสดงฉลากตามความเป็นจริงและปราศจากพิษภัยแก่ผู้บริโภค รวมตลอดถึงสิทธิที่จะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการ อย่างถูกต้องเพียงพอที่จะไม่หลงผิด ในการซื้อสินค้าและรับบริการโดยไม่เป็นธรรม
- สิทธิที่จะมีอิสระในการ เลือกหาสินค้าหรือบริการได้แก่ สิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยความสมัครใจของผู้บริโภคและ ปราศจากการชักจูงใจอันไม่เป็นธรรม
- สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจาก การใช้สินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับสินค้าหรือบริการที่ ปลอดภัย มีสภาพและคุณภาพได้มาตรฐานเหมาะสมแก่การใช้ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สิน ในกรณีใช้ตามคำแนะนำหรือระมัดระวังตามสภาพของสินค้าและบริการนั้นแล้ว
- สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับข้อสัญญาโดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ
- สิทธิ ที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย ได้แก่สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองและชดเชยความเสียหาย เมื่อมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค ตามข้อ 1 , 2 ,3 และ 4 ดังกล่าว
การ คุ้มครองผู้บริโภคในระดับสากลได้มีการรับรองสิทธิผู้บริโภคไว้โดย สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers Internationnal หรือ CI ) ซึ่งมีความครอบคลุมในการคุ้มครองผู้บริโภคมากกว่าสิทธิผู้บริโภคของไทย ซึ่งได้รับรองสิทธิผู้บริโภคสากลไว้ 8 ข้อ คือ
สิทธิผู้บริโภคสากล
- สิทธิ ที่จะเข้าถึงสินค้าและบริการที่จำเป็นขั้นพื้นฐาน ( The right to basic need ) เช่น ยา อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย การดูแลสุขภาพ การศึกษาและสุขาภิบาล
- สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการ ( The right to safety)
- สิทธิที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนที่จำเป็นเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ(The right to be information )
- สิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าและบริการได้อย่างอิสระ ( The right to choose )
- สิทธิที่จะร้องเรียนเพื่อความเป็นธรรม ( The right to be heard )
- สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและค่าชดเชยความเสียหาย ( The right to redress)
- สิทธิที่จะได้รับความรู้เกี่ยวกับการบริโภค ( The right to consumer education )
- สิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย ( The right to healthy environment )
จาก ความแตกต่างในการรับรองสิทธิผู้บริโภคของไทยและสากลองค์กรเอกชนที่ ดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคในไทยจึงเสนอให้มีการเพิ่มเติมสิทธิผู้บริโภคจาก เดิม เนื่องจากจากประสบการณ์ในการทำงานทำให้พบข้อสรุปว่ากฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ในไทยยังรับรองสิทธิของผู้บริโภคไว้จำกัดเกินไป และไม่เท่าทันสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภค หากมีการเพิ่มเติมสิทธิผู้บริโภคในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคของไทย จะเป็นการขยายขอบเขตสิทธิของ ผู้บริโภคให้ครอบคลุมจะทำให้สถานภาพ บทบาทและโอกาสในการแสดงพลังของผู้บริโภคมีมากขึ้น ขณะเดียวกัน คนไทยก็จะได้รับหลักประกันโอกาสในการเข้าถึงปัจจัยสี่อย่างเสมอหน้า ซึ่งได้เสนอสิทธิเพิ่มเติม 7 ข้อได้แก่
- สิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นในฐานะผู้บริโภคหรือผู้แทนกลุ่มผู้บริโภคในการกำหนดกฎเกณฑ์ มาตรการ หรือ นโยบายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค
- สิทธิที่จะรวมตัวกันเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองผู้บริโภค
- สิทธิที่จะได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นเพื่อการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค
- สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมจากโฆษณาและสื่อสารมวลชน
- สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการพิสูจน์ความผิด ภาระในการพิสูจน์ความผิดเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจ
- สิทธิในการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับสาธารณะเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค
- สิทธิ ที่จะได้รับสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตอันได้แก่ ยา เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย การดูแลสุขภาพ การศึกษาและสุขาภิบาล
*******
รวมมิตรจาก http://www.consumerthai.org
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น