วันพฤหัสบดีที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ควรอยู่เป็นโสด หรือ มีครอบครัว

ควรอยู่เป็นโสด หรือ มีครอบครัว 
 โดย ศุภวรรณ พิพัฒพรรณวงศ์ กรีน


         พอดีคุณเทพได้พูดเรื่องไม่อยากมีลูกขึ้นมา ดิฉันอยู่ในฝ่ายที่รับฟังปัญหาของคนมามาก ถามเข้ามามากเพื่อต้องการคำตอบในเรื่องนี้ และดิฉันอายุก็จัดเข้าสู่วัยชราแล้ว มีลูกของตัวเองด้วย จึงเห็นปัญหาของคนในแต่ละวัยได้ชัดเจนมากขึ้น จึงอยากถือโอกาสพูดเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา อาจจะฟังขัดหูต่อคนบางคนที่ไม่อยากฟัง แต่ต้องพยายามเข้าใจเรื่องที่ดูเหมือนง่าย ๆ แต่มีความลึกซึ้งอย่างมหาศาล เช่นเรื่องการแต่งงานและมีลูก

        คนที่อายุยังน้อย เมื่อมาปฏิบัติธรรมแล้ว มักพูดเสมอว่า ไม่อยากแต่งงาน ไม่อยากมีลูก เพราะไม่อยากมีบ่วงผูกคอ ซึ่งเป็นการคิดและพูดตามพระพุทธเจ้า แต่ยุคสมัยได้เปลี่ยนไปแล้ว การเข้ามาพึ่งร่มโพธิ์ร่มไทรของพระพุทธศาสนาไม่ใช่เป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย ๆ สำหรับคนยุคนี้แล้ว โดยเฉพาะเพศหญิง ใครจะบวชได้และอยู่ได้จริง ๆ จำเป็นต้องมีทุนทรัพย์ด้วย

        เห็นคนเปลี่ยนทัศนะคติมาแล้ว
        ตอนนี้ดิฉันสามารถเห็นภาพชีวิตของคนที่มีอายุมากขึ้นด้วย ฝรั่งที่ใช้ชีวิตในวัยชราอย่างโดดเดี่ยว ไม่มีใครดูแล บางคนตายเป็นอาทิตย์ เป็นเดือนแล้ว คนถึงจะรู้ ได้พบคนไม่น้อยที่เล่าถึงความห่วงใยในอานาคตของตนเองที่ต้องอยู่เพียงคน เดียวโดยไม่มีใครดูแล บางคนถึงขนาดกลัว ไม่สามารถขับไล่เจอรี่ตัวกลัวนี้ออกจากบ้านของใจ มันรบกวนมาก

        คนที่อยู่ในวัยไม่เกิน ๓๕ นั้น มักจะคิดถึงชีวิตแบบตัดตอนโดยเอาความรู้สึกในขณะนี้เป็นเกณฑ์ตัดสิน เห็นว่าชีวิตก็มีความสุขดีนะ เพราะมีพ่อแม่พี่น้องอยู่ด้วยกันอย่างอบอุ่น ไม่เห็นจะต้องแต่งงานรับภาระการเลี้ยงลูกดูแลคู่ครองให้ยุ่งยากเปล่า ๆ ปฏิบัติธรรมไป ก็น่าจะอยู่ได้ แต่พอเข้าวัย ๔๐ แล้วสิ ความคิดเริ่มเปลี่ยน เพราะพ่อแม่ก็แก่เฒ่าชราลง หรืออาจจากเราไปแล้ว พี่น้องคนอื่นก็อาจจะแต่งงานมีครอบครัวของตนเอง จากครอบครัวที่เคยอบอุ่นเต็มไปด้วยผู้คนกลับเหลือสมาชิกน้อยลง ๆ พี่น้องที่มีครอบครัว เขาก็ไปสร้างสมาชิกใหม่ของเขา มีความรักความอบอุ่นเหมือนที่พ่อแม่มีเราตอนเราเล็ก ๆ แม้เพื่อน ๆ ก็ตาม เมื่อเขาแต่งงานไป จะค่อย ๆ ห่างและหดหายไปเช่นกัน หากเราไม่ได้แต่งงาน ไม่มีลูก แม้จะปฏิบัติธรรมก็ตาม จะยังไม่พ้นที่จะถูกความเงียบเหงาและความกลัวอนาคตหลอกเอาทั้งนั้นไม่ว่าชาย หรือหญิง ยิ่งแก่ตัว คนรู้จักในรุ่นเดียวกันก็จะยิ่งน้อยลง ก็จะยิ่งคิดมาก อย่างน้อยพ่อแม่ที่ชราของเรามีเราเป็นคนดูแลท่าน พาท่านไปหาหมอ ดูแลปรนิบัติท่านในยามที่ท่านเจ็บป่วย แม้จากไปแล้ว ก็ยังมีเราเป็นภาระจัดงานศพแผ่ส่วนบุญกุศลไปให้ท่าน และเมื่อเราแก่เฒ่าชราล่ะ ใครจะดูแลเรา หากเราไม่มีลูก ใครจะทำสิ่งเหล่านี้ให้กับเรา มีหลายรายที่เขียนมาหาดิฉันเพื่อต้องการเค้นเอาคำตอบว่าจะแก้ปัญหาเรื่อง ความเหงา และการต่อสู้กับอนาคตอย่างโดดเดี่ยวได้อย่างไร

        สัญชาติญาณคือธรรมชาติจัดสรร
        ดิฉันจึงขอถือโอกาสนี้พูดตรง ๆ เลย ว่า คุณกำลังอยู่ในโลกมนุษย์อันเป็นคุกชีวิตที่ไม่มีอะไรสมบูรณ์เพียบพร้อมไปหมด ทุกอย่าง จะขอไปนิพพานด้วยพร้อมกับอยู่ในโลกมนุษย์อันเป็นคุกชีวิตอย่างไม่ทุกข์เลย ย่อมเป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะอยู่เป็นโสด หรือเลือกการไม่มีลูก ล้วนต้องมีห่วง มีทุกข์กันคนละแบบทั้งสิ้น ถ้าต้องการความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นความอบอุ่นของการมีครอบครัว ก็ต้องยอมลงทุนโดยการรับภาระเลี้ยงลูก ต้องยอมเสี่ยงที่จะเป็นทุกข์ หากลูกไม่ได้เป็นไปตามที่เราคาดหวังไว้ หรืออาจมีเรื่องอะไรเกิดกับลูก นี่เป็นเรื่องของโลก ไม่มีทางเลือก

        ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า โลกมนุษย์คือโลกที่ต้องมีมนุษย์อยู่ ธรรมชาติจึงจัดสรรให้มนุษย์มีขบวนการสืบเผ่าพันธุ์ ความต้องการทางเพศจึงเป็นสัญชาติญาณที่รุนแรงมาก แรงพอ ๆ กับสัญชาติญาณของหญิงที่อยากเป็นแม่คน และแรงพอ ๆ กับสัญชาติญาณของแม่ที่ต้องการปกป้องลูกของตน เรื่องสัญชาติญาณนี่เป็นเรื่องลึกซึ้งและลึกลับของธรรมชาติ สัญชาติญาณที่รุนแรงเหล่านั้นล้วนเป็นแผนการณ์ให้มนุษย์จำเป็นต้องทิ้งเผ่า พันธุ์ไว้ในโลกมนุษย์ การฝืนธรรมชาติเหล่านี้ย่อมเป็นเรื่องยากมาก แม้ฝืนมันได้ โดยการไปบวชเป็นพระ ก็เห็นไม๊ล่ะว่า ทำไมจึงมีปัญหาเรื่องพระไปแอบเสพเมถุนกันมาก แม้ไม่บวชเป็นพระ นักปฏิบัติธรรมที่เป็นชายก็ล้วนถูกเรื่องกามราคะตามรังควานทั้งสิ้นอย่างที่ หลายคนได้ประสบมา

        ชีวิตมีทั้งแง่บวกและลบ
        นอกจากนั้น ชีวิตมนุษย์เป็นชีวิตที่ต้องทำงานหาเงินเพื่อมาเลี้ยงชีวิตให้อยู่รอด ไม่มีความสามารถในการเนรมิตของทิพย์เหมือนประชากรของเทวดาในโลกสวรรค์ ธรรมชาติจึงสร้างมนุษย์ให้เป็นสัตว์สังคม ต้องอยู่กันเป็นคู่ เป็นครอบครัวเพื่อช่วยกันทำมาหากิน ช่วยกันเลี้ยงลูกเล็กให้เติบใหญ่ ความรักความอบอุ่นของครอบครัวที่มีคนที่เราพึ่งพาได้อย่างแท้จริงเป็นความ สุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ทั้งมนุษย์และสัตว์พอจะหาได้ในขณะที่ยังอยู่ในคุกชีวิต

         โลกมนุษย์นี้ไม่มีอะไรสมบูรณ์ เพราะมันเป็นคุก เราต้องยอมรับวิถีชีวิตที่ธรรมชาติสร้างให้ ซึ่งมีทั้งแง่บวกกับแง่ลบ ในสายตาของนักปฏิบัติธรรมเห็นการแต่งงานมีลูกเป็นภาระหนักที่จะถ่วงไม่ให้ตน เองไปนิพพาน แต่การอยู่คนเดียว ปฏิบัติธรรมก็ไม่ได้รับประกันว่า เราจะไปนิพพานได้เร็วกว่าคนที่มีครอบครัวที่ไหน ในทางตรงกันข้าม คนที่มีครอบครัวของตนเองนั้น จะมีประสบการณ์ชีวิตอีกมากมายที่คนไม่เคยมีครอบครัวจะไม่มีวันรู้ได้ เช่น การเป็นพ่อแม่คนมีความรู้สึกอย่างไร การเลี้ยงลูกเล็กมีความสุขอย่างไร การเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อรักมนุษย์อีกคนหนึ่งโดยไม่มีอะไรเคลือบแฝง นี่เป็นสิ่งที่คนไม่ได้เป็นพ่อแม่คนจะไม่มีโอกาสทำได้ แน่นอน การเลี้ยงลูกย่อมเป็นภาระ และเป็นบ่วงผูกคอ ไม่จำเป็นต้องเอ่ยถึงลูกเลว ๆ ที่นำปัญหามาให้พ่อแม่ต้องเสียใจ ทุกข์ใจ จนต้องพูดออกมาดัง ๆ ว่าหากไม่มีลูก คงดีกว่านี้

        จะมองชีวิตแบบตัดตอนไม่ได้
        สิ่งที่ดิฉันอยากให้คนปฏิบัติธรรมมองคือ ไม่ว่าจะแต่งงานหรือไม่แต่งงาน หรือ แต่งงานแล้วไม่มีลูกด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ ทุกคนล้วนมีทุกข์ มีปัญหาไปคนละแบบทั้งสิ้น ล้วนต้องตั้งความปรารถนาพระนิพพานทั้งสิ้น แต่ก่อนที่จะตัดสินใจเด็ดขาดว่า จะไม่แต่งงานและไม่อยากมีลูกนั้น ต้องพยายามมองภาพที่ไกลออกไป เพราะทุกคนล้วนต้องแก่ และอาจมีโรคภัยไข้เจ็บ และต้องตายทั้งสิ้น เพราะมีส่วนนี้แหละ วิถีของธรรมชาติจึงสร้างให้มนุษย์ต้องอยู่กันเป็นกลุ่มก้อนที่เราเรียกว่า สังคม ตั้งแต่สังคมครอบครัวขึ้นไปจนถึงระดับประเทศ เพื่อมนุษย์จะได้ดูแลซึ่งกันและกัน ฉะนั้น คุณจะมองแบบตัดตอนไม่ได้ คุณต้องมองให้เห็นภาพของตนเองในวัยชราที่กำลังเจ็บไข้ได้ป่วยด้วย คุณต้องมองให้ออกว่า ความสุขของพ่อแม่ของเราในขณะนี้คือ การได้อยู่ห้อมล้อมด้วยลูกหลานของตนเอง นี่คือความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ของคนแก่ ล้วนมองไปที่หน้าบ้านเพื่อเอี้ยวคอมองว่าเมื่อไหร่ลูกหลานจะมาหาทั้งนั้น แหละ ลองไปสังเกตสิ ลูกหลานของคนอื่นก็ไม่เหมือนลูกหลานของเราเอง ขอยกเว้นกรณีพิเศษที่ลูกหลานคนอื่นดีกว่าลูกหลานของตัวเองซึ่งมีน้อย ฉะนั้น ต้องมองตนเองในวัยชราที่อยู่โดดเดี่ยว เราจะไม่มีความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างที่พ่อแม่เรามีอยู่ในขณะนี้

         ถูกแม่ดุ
          แม้ดิฉันเอง ขณะอยู่ในวัยสามสิบกว่ามีลูกเล็กสามคนแล้ว กลับมาหาแม่ทีไร ก็มักพูดว่าอยากกลับมาอยู่กับแม่และพี่น้องที่เมืองไทย จนแม่ต้องดุดิฉันเลยว่า มีสามีมีลูกแล้ว ก็ต้องคิดอยู่กับครอบครัวของตัวเองสิ จะคิดไปอยู่กับคนอื่นได้อย่างไร เห็นไม๊ แม่พูดเองว่า พี่น้องเป็นคนอื่น ยังรู้สึกผิดหวังว่าทำไมแม่พูดเช่นนั้น และทำไมตอนที่เรามีลูกเล็ก ผู้ใหญ่จึงพูดเหมือนกันหมดว่า หนูนี่โชคดีจัง มีลูกชายน่ารักถึง ๓ คน ถูกละ ความรู้สึกสุขและสวยงามจากการมีลูกก็มีอยู่ แต่ตอนนั้นฟังแล้วก็ยังขัดกับความรู้สึกบางอย่างของตนเองบ้าง เพราะเหนื่อยมากจากการเลี้ยงลูก แถมเงินทองก็ไม่ค่อยมี เห็นแต่ภาระที่หนักหน่วง

       แต่ตอนนี้ดิฉันเข้าใจมากขึ้นแล้วว่าทำไมผู้ใหญ่จึงมักพูดเช่นนั้น เห็นปู่ย่าตาทวดบางคนที่ผ่านชีวิตมามาก พร้อมกับเห็นปัญหาและความทุกข์มากมายที่ลูกหลานนำมาในช่วง ๕๐ ปี แต่คนชราเหล่านี้ ก็ยังพูดเหมือนกันหมดว่า ไม่เสียใจที่มีลูก ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ยังสนับสนุนให้คนมีครอบครัวดีกว่า นี่คือความลึกซึ้งของชีวิตที่เข้าใจได้ยาก ต้องมีประสบการณ์เท่านั้น จึงจะรู้ได้

        ต้องกล้าเผชิญปัญหา
        ฉะนั้น หากใครตัดสินใจไม่อยากมีครอบครัว ก็ต้องมีความกล้าหาญที่จะเผชิญกับปัญหาความเงียบเหงาและการดูแลตนเองในยาม แก่เฒ่า จะต้องยอมรับว่านี่เป็นการตัดสินใจของตนเอง และเตรียมตัวรับปัญหาเหล่านั้น จะต้องวางแผนให้ดีว่าจะทำอะไรกับตัวเองอย่างไร ซึ่งคนโสดส่วนมากมักไปอยู่วัด

        ส่วนใครที่มีลูก ก็ไม่ได้รับประกันเช่นกันว่า ลูกจะมาเลี้ยงเราในยามแก่เฒ่า ลูกที่แต่งงานแล้ว รักแต่สามีหรือภรรยาและลูกของตัวเองโดยไม่เหลียวแลพ่อแม่ชราก็มีถมไป สังคมเปลี่ยนไปมากแล้ว สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความเสี่ยงเหมือนการซื้อล๊อตเตอรี่ ไม่มีทางรู้ว่ามันจะออกหัวหรือออกก้อย ต้องจำไว้เสมอว่า เรากำลังอยู่ในคุกชีวิตที่ไม่มีอะไรสมบูรณ์ เพียบพร้อม ล้วนต้องเสี่ยง หรือไม่ก็ต้องลงทุนเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการมาทั้งสิ้น

        ครอบครัวใหญ่
        การที่พระพุทธเจ้าสร้างสังคมของบรรพชิตขึ้นมา ก็เพื่อสร้างทางลัดให้คนเดินไปนิพพานได้เร็วขึ้นโดยไม่ต้องมีภาระหาเลี้ยง ชีพ นอกจากนั้น สังคมบรรพชิตก็เหมือนเป็นครอบครัวใหญ่ที่พระบรมศาสดาหวังจะให้ภิกษุดูแลกัน เอง เมื่อครั้งที่ท่านเสด็จไปดูแลพระรูปหนึ่งที่เจ็บไข้ได้ป่วยเพราะไม่มีใคร ดูแล ทรงเช็ดถูกายให้ เสร็จแล้ว ท่านก็ตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายว่า หากภิกษุไม่ช่วยดูแลกันเองในยามเจ็บไข้แล้ว จะไปหวังให้ใครมาช่วยดูแลหรือ เป็นการบอกพระภิกษุสาวกว่า สังคมของสงฆ์นี่แหละคือครอบครัวใหม่ของตนเองแล้ว จำเป็นที่จะต้องคอยสอดส่องและดูแลกันเอง ซึ่งดิฉันก็ไม่ทราบว่า ภิกษุของยุคสมัยนี้ยังคงปฏิบัติต่อกันเช่นนี้หรือไม่ ถ้าเป็นพระที่มีชื่อเสียง เป็นครูบาอาจารย์หรือเป็นเจ้าอาวาสก็คงไม่มีปัญหา ย่อมมีลูกศิษย์คอยดูแล อย่างเช่น หลวงปู่ชา แต่พระที่ไม่มีบทบาทอะไรต่อสังคมแล้ว เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ยังคงเป็นหน้าที่ของครอบครัวตนเองที่จะต้องมารับภาระดูแลท่าน

        สังคมอโศกเป็นตัวอย่างที่ดี
       ส่วนทางออกของคนที่ไม่คิดบวชและไม่อยากแต่งงานมีครอบครัว ก็ต้องสร้างสังคมของตนเองขึ้นมาที่จะช่วยดูแลกันเองได้ คือ สร้างสังคมของญาติธรรม มาเป็นญาติกันในทางธรรม ซึ่งสังคมของชาวอโศกที่นำโดยท่านโพธิรักษ์จะเป็นตัวอย่างที่ดีมากของสังคม ดังกล่าว หรือไม่เช่นนั้นก็ไปอยู่วัด หรือ อาศรมต่าง ๆ ที่มีผู้นำทางธรรมได้สร้างสังคมไว้แล้ว เช่น อาศรมมาตา เป็นต้น แต่หมายความว่า เรายังต้องเสียสละอิสรภาพส่วนตัวบ้างที่จะมาสร้างญาติทางธรรม มาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเช่นนี้ จะต้องมีทั้งการให้และการรับที่สมดุลกัน give and take เราไม่สามารถคาดหวังให้ใครมาดูแลเราในยามเจ็บไข้ หากเราไม่เคยไปดูแลคนอื่นเลย ในขณะที่การมีครอบครัวของตนเอง ก็เหมือนการบังคับให้ดูแลกันเองไปในตัวตามที่ธรรมชาติสร้างมา

        การสร้างสังคมของญาติธรรมก็ไม่ใช่เป็นคำตอบสำหรับทุกคนเสมอไป เพราะคนปฏิบัติธรรมส่วนมากก็ไม่ค่อยอยากยุ่งกับใครมากอยู่แล้ว ยิ่งถ้าไม่ใช่ครอบครัวคนใกล้ชิดของตนเอง อยากมีชีวิตเป็นส่วนตัวของตนเองมากกว่า สังคมของกัลยาณมิตรเช่นนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาเลย แม้สังคมที่มีแต่พระอรหันต์เท่านั้นก็ยังมีปัญหาหากต้องมีการพูดคุย สื่อสาร และทำงานร่วมกัน นี่เป็นเรื่องธรรมดา



        สร้างสังคมกัลยาณมิตรของตนเอง
        ใครที่ไม่พร้อมจะอยู่กับคนหมู่มากดังเช่นสังคมของชาวอโศก ก็อาจจะสร้างสังคมกลุ่มเล็ก ๆ ที่มีกัลยาณมิตรที่ไม่ได้แต่งงานเหมือนกัน เป็นชมรมเล็ก ๆ สร้างความสัมพันที่ใกล้ชิดต่อกันเพื่อจะได้ช่วยเหลือดูแลกันเอง แต่เห็นหรือไม่ว่า ไม่ว่าทางออกจะเป็นอะไร ล้วนต้องเกี่ยวข้องกับการลงทุนซึ่งเป็นการเสียสละความเห็นแก่ตัวตนทั้งสิ้น เหมือนพ่อแม่ที่ต้องเสียสละเพื่อเลี้ยงลูกจนโต จึงจะมีลูกมาดูแลตัวเองในยามแก่เฒ่า

        และต้องอย่าลืมว่า เพื่อนที่จะมาใส่ใจดูแลเพื่อนด้วยกันเองอย่างทุ่มเทนั้น มีน้อยมากในสังคมแห่งความเป็นจริง ไป ๆ มา ๆ มักเหลือแต่ ลูกหลานที่เกี่ยวดองกันทางสายเลือดใกล้ชิดจริง ๆ เท่านั้น นี่แหละ ธรรมชาติจึงสร้างให้มนุษย์และสัตว์เดรัจฉานอยู่เป็นคู่ ๆ เพราะคู่ครองของเรา ไม่ใช่ใครอื่น เขาคือ เพื่อนที่ดีที่สุดของเรานั่นเอง และต้องอย่าลืมว่า เพื่อนที่อายุไล่เลี่ยกันย่อมเข้าสู่วัยชราพร้อมกันด้วย จะให้มานั่งเยี่ยมเยียนกันเพื่อดูว่าอีกฝ่ายสบายดีหรือไม่เหมือนตอนที่ยัง หนุ่มสาวอยู่ ย่อมเป็นไปไม่ได้ นี่เป็นเหตุผลที่ธรรมชาติสร้างให้มีการสืบเผ่าพันธุ์ เพื่อคนอายุน้อยกว่าจะได้มาดูแลคนอายุมากกว่า เป็นเรื่องที่ธรรมชาติจัดสรรให้อย่างเหมาะเจาะแล้ว

         การมีบุตรชายไว้สืบสกุลจึงกลายเป็นเรื่องใหญ่มากของสังคมส่วนมากตั้งแต่ โบราณกาลมาแล้ว เหมือนเป็นสัญชาติญาณที่ไม่จำเป็นต้องสอนมาก เพราะกลไกของธรรมชาติชักใยอยู่เบื้องหลังนั่นเอง การมีครอบครัวจึงเป็นเรื่องลึกซึ้งมาก ไม่ใช่เรื่องตื้น ๆ เลย และไม่ใช่เรื่องที่จะมาเปลี่ยนแปลงเอาง่าย ๆ ด้วย

        ต้องสอนเด็ก ๆ เรื่องกตัญญู
        ในสังคมตะวันออกที่มีอิทธิพลของพระพุทธศาสนานั้น การดูแลพ่อแม่เป็นเรื่องกตัญญูกตเวที เป็นการเสริมความต้องการของธรรมชาติในเรื่องการดูแลมนุษย์ที่แก่เฒ่าให้เข้ม ข้นมากขึ้น ทำให้สมาชิกของสังคมไม่ลืมหน้าที่พื้นฐานของตนเอง

        สังคมตะวันตกยังขาดความรู้เรื่องนิพพาน พร้อมสถาบันศาสนาตลอดจนถึงระบบจริยธรรมของเขาก็อ่อนแอลง ในช่วง ๒๐ - ๓๐ ปีให้หลังนี้ สังคมเปลี่ยนไปมาก คนเห็นแก่ตัวมีมากขึ้น ประเด็นเรื่องการมีลูกเพื่อเลี้ยงดูพ่อแม่ในยามแก่เฒ่าจึงถูกบิดเบือนให้ เห็นเป็นเรื่องความเห็นแก่ตัวของพ่อแม่ เด็กตะวันตกของยุคนี้ เมื่อมีปากเสียงกับพ่อแม่ มักพูดด้วยความโกรธใส่หน้าพ่อแม่ว่าเห็นแก่ตัว มีลูกเพียงเพื่อให้มาเลี้ยงดูตนเองเท่านั้น ตำหนิพ่อแม่ว่าไม่ได้รักลูกอย่างแท้จริง รักแต่ตัวเองเท่านั้น พ่อแม่ไม่น้อยก็พลอยสนับสนุนความคิดนี้โดยพูดว่า ที่ตนเองมีลูกก็ไม่ได้หวังให้ลูกมาเลี้ยงตัวเองหรอก ด้วยความกลัวคนตำหนิว่าตนเองจะเห็นแก่ตัว ไม่ได้รักลูกจริง คนตะวันตกจึงไม่เข้าใจเรื่องความกตัญญูต่อพ่อแม่ ตีความว่าพ่อแม่เลี้ยงเรามาเพื่อหวังสิ่งตอบแทนคือให้เราเลี้ยงดูเขา ความคิดนี้ก็ได้ระบาดเข้ามาในสังคมตะวันออกด้วย ดังที่เคยฟังพ่อแม่ไทยพูดในทำนองนี้ ซึ่งเป็นการคิดที่ผิดทำนองคลองธรรมไปหมด เป็นความคิดที่อันตรายมาก

        ที่จริงแล้ว การสอนลูกให้กตัญญูต่อพ่อแม่โดยเลี้ยงดูท่านในยามแก่เฒ่าเป็นการสอนที่ถูก ต้องแล้ว ไม่ใช่เรื่องเห็นแก่ตัวของใครทั้งสิ้น นี่เป็นความต้องการของธรรมชาติ การที่พ่อแม่คาดหวังให้ลูกเลี้ยงดูตนเองไม่ใช่เป็นเรื่องผิด และไม่ใช่เรื่องเห็นแก่ตัวแต่อย่างใด จะมีพ่อแม่คนไหนบ้างที่ไม่หวังฝากผีฝากไข้กับลูกของตน แม้คนที่พูดว่าไม่คาดหวังอะไรจากลูกก็ตาม เมื่อถึงเวลาแก่เฒ่า ช่วยตัวเองไม่ได้ ก็ต้องหวังพึ่งลูกทั้งสิ้น นี่เป็นเรื่องธรรมชาติมาก คนไทยเราไม่ควรพูดอะไรตามก้นฝรั่งไปหมด เขาพูดอย่างคนหลงทิศชีวิต ใครจะพูดเรื่องนี้ ต้องระวังให้ดี ต้องพูดให้เด็ก ๆ มีความกตัญญูรู้คุณพ่อแม่ เห็นพ่อแม่เป็นเนื้อนาบุญที่ตนเองสามารถปลูกต้นบุญเพื่อไปนิพพาน การเลี้ยงดูพ่อแม่ในยามที่ท่านแก่เฒ่า จึงเป็นการปลูกต้นบุญให้ตนเอง เป็นเรื่องที่นำสิริมงคลมาสู่ชีวิตตนเอง

        สร้างเมตตาบารมี
        คนที่แต่งงานแล้ว แต่ไม่อยากมีลูกเป็นบ่วงผูกคอ และห่วงว่าลูกที่เกิดมาอาจจะดีหรืออาจจะไม่ดี ถ้าลูกไม่ดีมาเกิดแล้ว จะทำให้ชีวิตยิ่งยุ่ง ยิ่งทุกข์มากกว่าเป็นสุข
        ขอตกลงกันก่อนว่า ดิฉันกำลังพูดกับคนปฏิบัติธรรมที่ได้ละทิ้งโคตรปุถุชนมาแล้ว ได้ข้ามพรมแดนมาสู่อริยโคตรแล้ว จึงพูดให้คนคิดใหม่ว่า การผลิตมนุษย์อีกคนหนึ่งขึ้นมาในโลกนี้ เท่ากับช่วยให้อีกชีวิตหนึ่งในสังสารวัฏมีโอกาสมาเกิดเป็นมนุษย์และพบพระ พุทธศาสนา เพื่อเขาจะได้มีโอกาสต่อยอดทางธรรม เดินทางต่อไปให้ถึงพระนิพพานเหมือนที่เรากำลังทำอยู่ในขณะนี้ เท่ากับเป็นการสร้างเมตตาบารมีให้กับตนเองด้วย

        หากใครแต่งงานแล้ว คิดจะมีลูก ควรตั้งจิตอธิษฐานขอให้จิตวิญญาณที่มีบารมีทางธรรมหรืออาจได้เคยข้ามโคตรมา แล้วได้รับรู้ เพื่อต้อนรับจิตวิญญาณที่มีบุญบารมีนั้นมาสู่ครรภ์ของตน ในขณะเดียวกัน จิตวิญญาณที่ได้สร้างบารมีทางธรรมมาแล้วก็ย่อมสรรหาครรภ์ของมารดาที่มี คุณธรรมเช่นกัน เรื่องการเกิดมาเป็นพ่อแม่ลูกกันนั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบุญบารมีและวิบากกรรมโดยตรง แม้เด็กที่มาเกิดกับเราไม่เคยข้ามโคตรมาก่อน แต่การเกิดมาในครอบครัวของคนปฏิบัติธรรม มุ่งนิพพานย่อมเป็นสภาพแวดล้อมที่สามารถบ่มเพาะช่วยให้มนุษย์อีกคนหนึ่งก้าว ข้ามโคตรได้เช่นกัน เพราะภพภูมิมนุษย์นี้เหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรมเพื่อไปนิพพานมากที่สุด การคิดได้เช่นนี้ ก็เท่ากับมีเมตตาแก่เพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตายที่วนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ เหมือนเรา เมื่อลูกที่มีบุญมาเกิดกับเราได้เช่นนี้ ก็จะสามารถช่วยกันประคับประคองเพื่อต่อยอดเดินทางไปนิพพาน นี่เป็นเหตุปัจจัยที่คู่แต่งงานสามารถทำให้มันเกิดได้

        แต่ไม่ว่าจะเลือกทางใด ล้วนต้องมีการลงทุนก่อนทั้งสิ้น คือ ต้องเสียสละความสุขส่วนตัวเลี้ยงลูกให้โต เพื่อลูกจะได้ดูแลเราในยามแก่เฒ่า ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องไม่ลืมเรื่องกฎแห่งอนิจจังและความเสี่ยงว่ามันอาจจะไม่เหมือนที่คิด ที่คาดหวังไว้ ก็เพียงทำในสิ่งที่ถูกต้องให้ดีที่สุดเท่านั้นเอง

        พระมหากัสสปกับนางภัททา
       คนที่ได้ข้ามพรมแดนมาสู่โคตรอริยะแล้วนั้น หากเป็นโสดอยู่ ย่อมอยากได้คู่ครองที่ได้ข้ามพรมแดนมาแล้วเช่นกัน เรื่องการหาคู่นี่เป็นเรื่องยากมาก หากไม่ได้ “ปิ๊ง” กันอย่างเป็นธรรมชาติแล้ว แม้จะมีคนมาชอบเราอยู่ ก็ยากที่จะทำให้ตนเองชอบอีกฝ่ายหนึ่งได้ ยิ่งกำลังฝึกเรื่องพาตัวใจกลับบ้านด้วยแล้ว ก็เป็นธรรมชาติอยู่เองที่อยากอยู่คนเดียวมากกว่าที่จะอยู่กับคนอื่น
         หากใครยังมีความกลัวหรือกังวลที่จะต้องเผชิญชีวิตในวัยชราเพียงคนเดียว อยากมีคู่ และเข้าใจในสิ่งที่ดิฉันพูดเบื้องต้นแล้ว คนที่อยู่ในอริยโคตรด้วยกันเองน่าจะดูตัวอย่างของพระมหากัสสปะกับนางภัททา
         พระมหากัสสปะมีชื่อเดิมว่า ปิปผลิมานพ เกิดในตระกูลพราหมณ์ พ่อแม่ต้องการให้แต่งงาน ในหนังสือบอกว่า เป็นคนไม่ชอบเพศตรงข้าม (อาจจะเป็นเกย์ก็ได้) อยากบวชอย่างเดียว จึงออกอุบายให้ช่างทางหล่อรูปปั้นทองคำเล็ก ๆ ของหญิงสาวสวยหยดย้อย แต่งตัวให้งาม โดยตั้งใจว่าพราหมณ์ ๘ คนที่พ่อแม่หามาช่วยจะไม่มีทางหาหญิงตามรูปปั้นได้แน่ แต่เมื่อพราหมณ์นำรูปปั้นนี้ไปแห่ตามเมืองต่าง ๆ ก็ได้พบหญิงที่หน้าตาตามที่ปั้นขึ้นมาจริง นางชื่อภัททา เป็นชาวเมืองสาคละ แคว้นมคธ ซึ่งสาวใช้ของนางภัททาไปพบการแห่รูปปั้นนี้ก่อน จึงกลับมาบอกนายหญิงของตน พราหมณ์ ๘ คนที่พ่อแม่ของปิปผลิมานพส่งออกมาหาเจ้าสาวก็ไปดูตัว เห็นพ้องกันว่า นางภัททานี้เหมือนรูปปั้นของหญิงในฝันของขิปผลิมานพจริง จึงเอารูปปั้นทองคำนั้นหมายมั่นนางไว้ และแจ้งให้เศรษฐีกบิลพราหมณ์ทราบ

        ในที่สุด ทั้งสองก็ได้แต่งงานกัน และมาพบความจริงว่า ต่างฝ่ายต่างก็ต้องการบวช ไม่อยากแต่งงานมีครอบครัวเหมือนกัน จึงสัญญากันว่า จะไม่เกี่ยวข้องกันทางกายฉันสามีภรรยา จึงเอาช่อดอกไม้คั่นไว้ตรงกลางบนเตียงนอน และรอเวลาจนกระทั่งบิดามารดาเสียชีวิตไปแล้ว จึงตัดสินใจยกสมบัติพัสถานให้ผู้อื่นหมดและออกบวชทั้งสองคนจนในที่สุดก็ สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งคู่

         ทฤษฎีเรื่องความสมดุลของหยินหยาง
        ดิฉันเห็นว่าเรื่องราวของปิปผลิมานพกับนางภัททายังน่าจะเป็นเรื่องที่ทำได้ อยู่แม้ในยุคนี้ การที่ดิฉันได้มาใช้ชีวิตคู่ จึงเห็นความลึกซึ้งของธรรมชาติที่สร้างฝ่ายชายกับฝ่ายหญิงขึ้นมาให้พึ่งพา ซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดความสมดุลอย่างแท้จริง นี่คือปรัชญาความคิดเรื่องหยินหยางของชาวจีน ชายกับหญิงถูกสร้างมาให้มีความแตกต่างกันมาก ดังที่หมอดูพูดว่า ชายมาจากดาวอังคาร หญิงมาจากดาวศุกร์ Male comes from Mars and female comes from Venus. มีบางคนถึงขนาดคิดว่าหญิงกับชายไม่ใช่เพียงมาจากดาวเคราะห์ต่างกัน แต่มาจากต่างแกแลกซี่เลยทีเดียว

         หญิงชายมีความแตกต่างกันมากนี่เป็นความตั้งใจของธรรมชาติ ตั้งแต่ความแตกต่างทางกายตลอดจนการคิดนึกและความสามารถซึ่งบางสิ่งจะทดแทน กันไม่ได้เลย เนื่องจากชายมีร่างกายแข็งแรงกว่า ในอดีต ชายจึงต้องเป็นฝ่ายออกไปล่าสัตว์หาอาหารมาเลี้ยงครอบครัว ในขณะที่ฝ่ายหญิงจะดูแลลูกและทำงานบ้าน ซึ่งบทบาทดั้งเดิมนี้แม้ได้เปลี่ยนแปลงไปบ้างแล้วในสังคมปัจจุบัน ก็ยังเปลี่ยนไม่มากเท่าไร หญิงที่ออกจากบ้านไปทำงานเท่าเทียมฝ่ายชาย หากมีครอบครัว แม้กลับถึงบ้านก็ยังไม่พ้นต้องดูแลลูกเต้าและทำงานบ้านเช่นเดิม ทำให้ต้องทำงานหนักกว่าชายถึงสองเท่า ใครมีฐานะดีพอที่จะจ้างแม่บ้านมาดูแลความสะอาดของบ้านช่องก็อีกเรื่องหนึ่ง

        บ้านที่มีความลงตัวได้ดีทุกอย่าง ต้องเป็นบ้านที่มีทั้งชายและหญิงอยู่ด้วยกัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะทำงานที่ตนถนัด ดิฉันมักล้อสามีเสมอว่า เขาตากผ้าไม่เป็น สามีก็มักล้อดิฉันว่าเปลี่ยนหลอดไฟไม่ได้ อ่านแผนที่ไม่เป็น ไม่รู้จักแยกขวาแยกซ้าย เป็นต้น ชายจะสามารถวาดภาพของแผนที่ในหัวตนเองได้ แต่หญิงทำไม่ค่อยได้ เรื่องที่ทำง่าย ๆ สำหรับหญิงจะกลายเป็นเรื่องยากของฝ่ายชาย และกลับกัน โดยเฉพาะเรื่องการเลี้ยงเด็กทารก เป็นเรื่องที่ทดแทนกันยากมาก

        ผูกพันกันทางสายเลือด
        นอกจากหญิงชายจะพึ่งพาซึ่งกันและกันในเรื่องงานต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวรอบบ้านแล้ว ธรรมชาติยังสร้างให้มาพึ่งพากันทางด้านอารมณ์ความรู้สึกด้วย เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการความรัก ต้องมีคนที่เป็นห่วงเป็นใยเรา อยากรู้เรื่องสุขทุกข์ของเรา ซึ่งคนที่จะให้ความรักเช่นนั้นกับเราได้อย่างเป็นธรรมชาติที่สุดคือ พ่อแม่ของเราเท่านั้น คนที่ให้เราได้ถัดมาคือคู่ครองที่เรารักจริง และต่อมาคือลูกของเรา ซึ่งอาจจะให้ความรักแก่เราไม่เท่าที่เราในฐานะพ่อแม่ให้แก่ลูก ความรักที่จะได้รับจากคนอื่นก็น้อยลงแล้ว เพราะการเกี่ยวดองทางสายเลือดนี่ย่อมสร้างใยผูกพันที่เหนียวแน่นกว่าคนที่ ไม่ได้เกี่ยวข้องทางสายเลือด จึงไม่เพียงพอที่เราจะพึ่งพาได้อย่างแท้จริง ฉะนั้น คนที่อยู่เป็นโสด ถึงจุดหนึ่งที่พ่อแม่เสียไปแล้ว จะเหงาและโดดเดี่ยวมาก จะรู้สึกขาดแคลนความรัก แม้ปฏิบัติธรรมอยู่ก็ตาม นอกจากว่าตนเองจะหมดปัญหา หลุดพ้นได้แล้วนั่นแหละ จึงจะไม่ถูกเรื่องความเหงาและความโดดเดี่ยวกัดเซาะเอา แม้จะมีสติเข้มข้นอย่างไร เจอรี่ตัวนี้จะหาทางเข้ามาในบ้านของเราได้เสมอ


         สองหัวย่อมดีกว่าหัวเดียว
         การพึ่งพาด้านจิตใจระหว่างชายกับหญิง จะเห็นได้ชัดเมื่อมีการออกจากบ้าน ต้องเข้าสังคมนั้น การมีคู่ครองของเราไปด้วยจะทำให้เกิดความอุ่นใจและมั่นใจในตนเองมากกว่าการ ไปไหนต่อไหนคนเดียว คู่ครองที่ดีมักจะตรวจสอบความรู้สึกของอีกฝ่ายหนึ่งเสมอ หากฝ่ายหนึ่งรู้สึกประหม่า ไม่มีความมั่นใจ อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องคอยดูแล เป็นเพื่อนคุยด้วย เหมือนต่างฝ่ายต่างเป็นหลักเกาะให้แก่กันและกัน จะทำให้ทั้งสองฝ่ายมีความมั่นคงมากขึ้น ไม่ล้มในทางอารมณ์ง่าย ๆ
โดยธรรมชาติของมนุษย์แล้ว ย่อมต้องการมีคนพูดคุยด้วย แม้เพียงคำพูดธรรมดา ๆ ว่า ข้าวราดแกงนี่อร่อยนะ ดอกกุหลาบนี่หอมจัง หรือ ต้องการให้ใครมาบอกเราว่าเสื้อผ้าชุดนี้สวยและเหมาะกับเรานะ เน็คไทเส้นนี้จะไปกับเสื้อเชิ๊ตตัวนี้ไหมหนอ ถ้ามีคนรับฟังเรา ก็จะรู้สึกอุ่นใจ ยิ่งวันไหนไปเจอเหตุการณ์ที่ผิดจากปกติ มีปัญหาเข้ามารุมเร้า กลับมาบ้านแล้ว ก็อยากมีคนคุยด้วย ระบายปัญหาให้ที่รุมเร้าใจออกไป สิ่งเหล่านี้เป็นแผนการณ์ของธรรมชาติที่ช่วยมนุษย์ระบายเจอรี่ออกจากใจของ เรา และพยายามบอกมนุษย์ว่า “สองหัวย่อมดีกว่าหัวเดียว”

        ถ้าโลกนี้ไม่มีผู้ชาย ก็คงไม่มีอารยธรรมทางวัตถุ การประดิษฐ์คิดค้นและการสร้างสรรค์งานที่ยิ่งใหญ่ต่าง ๆ ซึ่ง ๘๐ เปอร์เซนต์ล้วนเป็นผลงานของฝ่ายชาย ลองไปดูการสร้างตึกสูง ๆ นับร้อยชั้น สร้างสะพาน ทางรถไฟ อุโมงค์ใต้น้ำ ขุดเจาะน้ำมัน ล้วนต้องอาศัยแรงงานผู้ชายทั้งสิ้น แต่หากโลกนี้ไม่มีเพศแม่ มนุษย์ก็คงสูญพันธุ์ คงไม่มีมนุษย์เพศชายที่มาสร้างสรรค์อารยธรรมวัตถุเหล่านี้ คงไม่มีโลกมนุษย์

        การมีคู่ครองก็คือการมีเพื่อนที่ดีที่สุดคนหนึ่ง เพื่อนธรรมดาถึงจุดหนึ่ง ก็จำเป็นต้องแยกย้ายกันไป แต่เพื่อนที่ดีที่สุดจะอยู่กับเราและดูแลซึ่งกันและกันไปจนวันตาย หากเป็นคู่ที่มีคุณธรรมใกล้เคียงกันแล้ว ก็น่าจะสามารถใช้ชีวิตอย่างปิปผลมานพและนางภัททา เป็นเรื่องที่คุยตกลงกันได้ แม้ไม่อยากมีลูก การมีคู่ครอง อย่างน้อยก็ไม่ทำให้ชีวิตเงียบเหงาจนเกินไป เป็นเพื่อนดูแลซึ่งกันและกัน เท่ากับใช้ทรัพยากรของชีวิตที่พระธรรมชาติเจ้าประทานมาให้อย่างดีที่สุดใน ขณะที่ยังอยู่ในคุกชิวิต และช่วยกันประคับประคองเพื่อเดินทางไปนิพพานด้วยกัน

        ปัญหาเกิดเมื่อฝืนธรรมชาติ
        สังคมในอดีตมักไม่ต้องคิดมาก การแต่งงานมีครอบครัวเป็นวัฒนธรรมที่ล้วนยอมรับกัน ค่านิยมเรื่องไม่อยากแต่งงานมีลูกเพราะไม่อยากมีภาระรับผิดชอบนี่เพิ่งมา เปลี่ยนแปลงมากในยุค ๓๐ ปีให้หลังนี้ เกิดจากขบวนการ women’s liberation เพศหญิง เรียกร้องสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมฝ่ายชายมากขึ้น จนทำให้ฝ่ายหญิงมีบทบาททางสังคมมากขึ้น ออกมาหาเงินเป็นที่พึ่งของตัวเองได้ ความคิดเรื่องไม่แต่งงานและพึ่งตัวเองจึงเริ่มระบาดจากสังคมตะวันตกก่อน เมื่อหญิงออกมาทำงานมาก การเลี้ยงลูกจึงต้องถูกผลักภาระให้แก่ผู้อื่น เช่น ปู่ยาตายาย คนรับใช้ หรือไม่ก็สถานรับเลี้ยงเด็กต่าง ๆ เพราะเป็นเรื่องผิดธรรมชาติ ปัญหาสังคมจึงตามมาอันเนื่องจากเด็กขาดความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่ที่เอาแต่ ทำงานจนไม่มีเวลาให้ลูก

        นอกจากนั้น ความกดดันของระบอบเศรษฐกิจและปัญหาสังคม การดิ้นรนตะเกียกตะกายเพื่อเลี้ยงชีวิตตนเองให้รอดยังเป็นเรื่องยากอยู่ หญิงชายไม่น้อยจึงกลัว ไม่กล้าคิดเรื่องมารับภาระของการมีครอบครัวเพิ่ม ทำให้คนอยากแต่งงานมีน้อยลงในยุคนี้ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลโดยตรงที่จะต้องส่งเสริมให้สถาบันครอบครัวอยู่รอด ทำให้คู่แต่งงานที่มีลูกสามารถอยู่ได้ง่ายขึ้น โดยให้เสียภาษีน้อยลง อำนวยความสะดวกในเรื่องการให้แม่ได้ดูแลลูกเล็กของตน เป็นต้น เพราะถ้าสถาบันครอบครัวถูกส่งเสริมให้อยู่ได้ง่ายและประสบความสำเร็จแล้ว ปัญหาสังคมจะค่อย ๆ น้อยลงเอง

        เสี่ยงทั้งนั้น
        ที่พูดมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้พูดกับคนที่ยังอยู่ในโคตรปุถุชน แต่พูดกับคนที่ได้ข้ามพรมแดนมาอยุ่ในอริยโคตรแล้ว แต่ยังมีความทุกข์อยู่ จึงอยากให้เห็นภาพใหญ่ของชีวิตและเข้าใจธรรมชาติของโลกมนุษย์และความลึกซึ้ง ของมัน ต้องไม่มองชีวิตแบบตัดตอน แต่มองอย่างครบวงจร การพูดครั้งนี้จึงพยายามหาทางออกให้แก่คนที่อยู่ในแต่ละกลุ่ม ซึ่งต้องเข้าใจว่า ไม่ว่าจะเลือกวิถีวิตแบบไหน ล้วนเป็นเรื่องของการเสี่ยงทั้งสิ้น เราอาจจะวางแผนสวยหรูไว้เช่นนี้ แต่ความเป็นจริงกลับกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะทุกอย่างเป็นอนิจจัง

        นอกจากนั้น ต้องยอมรับความจริงขั้นพื้นฐานว่า เรากำลังอยู่ในคุกชีวิตที่มีความทุกข์ ฉะนั้น ไม่ว่าใครจะเลือกวิถีชีวิตอะไรก็ตาม ล้วนต้องมีปัญหาและความทุกข์ที่แตกต่างกันทั้งสิ้น คนโสดก็ทุกข์อย่างคนโสด คนมีครอบครัวก็มีปัญหาและทุกข์อย่างคนมีครอบครัว สิ่งที่รับประกันได้ คือ ความทุกข์ที่เกิดจากการพลัดพราก ไม่ว่าจะจากกันไปไกล เช่น ลูกที่ต้องจากบ้านไปเรียนหรือทำงานไกล ๆ นาน ๆ จึงกลับบ้านมาดูหน้าพ่อแม่สักครั้งหนึ่ง หรือ การพลัดพรากเพราะความตาย ไม่ว่าใครจะเลือกวิถีชีวิตแบบไหน ล้วนต้องพบความพลัดพรากและต้องเป็นทุกข์ทั้งสิ้น ใครมีครอบครัว สิ่งที่หวังได้ดีที่สุดคือ ขอให้พ่อแม่ตายก่อนลูก ใครที่เป็นโสด อย่างน้อยก็ขอให้มีคนฝากผีฝากไข้ด้วย เมื่อความตายมาถึง ทั้งคนโสดและคนมีครอบครัวล้วนจากโลกนี้ไปมือเปล่าเท่าเทียมกันหมด

        สรุป
        ไม่ว่าจะเป็นโสดหรือมีครอบครัว เมื่อได้ข้ามพรมแดนมาสู่อริยโคตรแล้ว จับหลักเรื่องการพาตัวใจกลับบ้านได้แล้ว ทุกคนล้วนมีสิทธิ์เดินเข้าใกล้พระนิพพานและถึงพระนิพพานได้เท่าเทียมกันหมด ไม่มีกฏเกณฑ์บอกว่า คนโสดจะไปถึงนิพพานเร็วกว่าหรือช้ากว่าคนมีครอบครัว ใครที่ปฏิบัติถูกทาง ย่อมถึงพระนิพพานทั้งสิ้น
        หวังว่าบทความนี้จะสามารถตอบคำถามของผู้อ่านที่เขียนเข้ามาถามปัญหาของการมี ครอบครัว และหวังว่าทุกคนจะสามารถใช้สถานะของความเป็นมนุษย์ตลอดจนทรัพยากรชีวิต และธรรมชาติที่มีอยู่ในโลกมนุษย์ให้เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติเพื่อเดินเข้า ใกล้พระนิพพานให้มากขึ้น
*******
 รวมมิตรจาก http://www.supawangreen.in.th และ http://www.dhammajak.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น